วิธิวิเคราะห์หาปริมาณสบู่ในน้ำยางธรรมชาติ น้ำยางธรรมชาติข้น และน้ำยางสังเคราะห์ข้น โดยวิธีการเติมสารมาตรฐานร่วมกับการวัดค่านำไฟฟ้า
นักวิจัย  
ผศ.ดร.วิไลรัตน์ ชีวะเศรษฐธรรม
ผศ.ดร.เสาวณีย์ ก่อวุฒิกุลรังษี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 0501004093 ยื่นคำขอวันที่ 31 สิงหาคม 2548
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
ปัจจัยด้านความเสถียรเชิงกล (Mechanical Stability Time, MST) ของน้ำยางข้นเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่งชี้คุณภาพมาตรฐานของน้ำยางข้น ในทางปฏิบัติโดยทั่วไปของผู้ผลิตน้ำยางข้นจะเติมสบู่ในรูปของสบู่แอมโมเนียมลอเรต (Ammonium laurate) เพื่อเร่งค่า MST ให้ได้ตามข้อกำหนดของผู้ซื้อแทนการใช้เวลารอหลายวัน อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ใช้น้ำยางข้นในการทำผลิตภัณฑ์จากยางพาราประเภทต่าง ๆ ค่า MST ของน้ำยางมีความสำคัญต่อกระบวนการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการขึ้นรูปโดยเทคนิคการจุ่มพิมพ์ เช่น การผลิตถุงยางอนามัย ถุงมือแพทย์ ลูกโป่ง และการขึ้นรูปเส้นด้ายยางยืด เป็นต้น

ทั้งนี้เพราะหากปริมาณสบู่ในน้ำยางมีมากเกินไปจะส่งผลให้น้ำยางอาจเสถียรมากเกินไปและความตึงผิวของน้ำยางลดลงมาก ทำให้น้ำยางเกิดการจับ (Set) ตัวยาก รวมทั้งเกิดฟองอากาศได้ง่าย ดังนั้นจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาการรั่ว และยางไม่สุก (Undercure) กับผลิตภัณฑ์จุ่มพิมพ์ หรือเกิดความยุ่งยากในการควบคุมการผลิตเส้นด้ายยืด ตลอดจน การผลิตยางฟองน้ำ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ปัจจุบันวิธีการวิเคราะห์สบู่ในน้ำยางพาราใช้เครื่อง High performance liquid chromatography ที่มีราคาสูงระดับกว่าล้านบาท และใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเตรียมตัวอย่างและการวิเคราะห์ผล แต่เทคโนโลยีวิธีการเติมสารมาตรฐานร่วมกับการวัดค่านำไฟฟ้าเป็นวิธีที่มีต้นทุนต่ำ ใช้อุปกรณ์ราคาถูกเพียงระดับหมื่น และสามารถวิเคราะห์ได้รวดเร็ว แม้ไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีก็สามารถวิเคราะห์ได้เอง ณ สถานประกอบการหลังผ่านการอบรม นอกจากนี้เทคโนโลยี ยังมีความน่าเชื่อถือของวิธี (Method validation) ตามมาตรฐานสากล คิดค้นวิธีโดยหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดมาตรฐานวิธี ISO ผู้ขอรับเทคโนโลยีไปใช้จะได้รับการอบรมความรู้ด้านชีวเคมีสมัยใหม่ของน้ำยางพารา พร้อมหนังสือ "การตรวจหาปริมาณสบู่ลอเรตในน้ำยาง" ซึ่งผลิตเพื่อผู้ขอใช้สิทธิ์เท่านั้น

จุดเด่นคือ
1) รวดเร็วใช้เวลาน้อยกว่า 20 นาทีต่อตัวอย่าง จากเดิมนานกว่า 20 ชั่วโมง
2) ผ่านการทดสอบความน่าเชื่อถือ หรือความใช้ได้ (Method validation) ตามมาตรฐานสากล โดยหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดมาตรฐานวิธี ISO
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับ pilot scale ได้ถูกทดสอบในสภาวะทำงานจริง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
นายสิทานนท์ อมตเวทย์
โทรศัพท์ 074289321
โทรศัพท์มือถือ 0909707099
Email sitanon.a@psu.ac.th
ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "วิธิวิเคราะห์หาปริมาณสบู่ในน้ำยางธรรมชาติ น้ำยางธรรมชาติข้น และน้ำยางสังเคราะห์ข้น โดยวิธีการเติมสารมาตรฐานร่วมกับการวัดค่านำไฟฟ้า"