ชุดตรวจวัดปริมาณโปรตีนไกลเคทเตดอัลบูมินเพื่อติดตามเบาหวาน SugarAL GO-Sensor
นักวิจัย  
ดร เดือนเพ็ญ จาปรุง และคณะ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC)
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1301005956 เรื่อง แอปตาเมอร์ที่จำเพาะต่อโปรตีนซีรัมอัลบูมินและไกลเคทเตทซีรีมอัลบูมินของคน ยื่นคำขอวันที่ 17 ตุลาคม 2556
อนุสิทธิบัตร เลขที่ 12414 เรื่อง กรรมวิธีการวัดปริมาณโปรตีนไกลเคทเตดอัลบูมินโดยการใช้สารละลายกราฟีนร่วมกับแอปตาเมอร์
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือเกิดภาวะร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยและมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จึงเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต สภาวะเศรษฐกิจของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก โรคเบาหวานเป็นโรคที่ต้องมีการควบคุม ติดตาม และรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดทุพพลภาพ หรือการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร จากการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังที่อาจตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง ตาบอดจากเบาหวาน การสูญเสียอวัยวะจากแผลเบาหวาน เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยและติดตามเบาหวานในปัจจุบัน เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลเลือด (plasma glucose) และ การตรวจวัดระดับ HbA1C อย่างไรก็ตามทั้งสองวิธีก็มีข้อจำกัด โดยที่ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (plasma glucose) บอกระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลานั้นๆที่ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัย แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการติดตามผลในช่วงเวลาก่อนมาพบแพทย์ได้ ในขณะที่ การตรวจวัดระดับ HbA1C เป็นการวัดปริมาณน้ำตาลที่เกาะอยู่บนฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงซึ่งมีอายุเฉลี่ยประมาณ 8-12 สัปดาห์ ซึ่งสามารถบอกระดับน้ำตาลย้อนหลังได้ แต่ก็อาจจะเป็นระยะเวลาที่นานเกินไปในการติดตามผลการรักษาของแพทย์ เนื่องจากการติดตามและให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากสามารถติดตามระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยในระยะเวลาที่สั้นขึ้น และทำได้บ่อยขึ้น ก็น่าจะทำให้การดูแลรักษา และลดความเสี่ยงของผู้ป่วยต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การวัดระดับ HbA1c อาจมีข้อจำกัดในการใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหรือโรคบางอย่าง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคตับ ผู้ที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย หรือผู้ที่สูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีภาวะของเลือดที่ผิดปกติ จึงอาจจะทำให้ค่าของ HbA1c มีความคลาดเคลื่อนไปด้วย
จากข้อจำกัดดังกล่าว ได้นำไปสู่แนวทางใหม่ในการวัดโปรตีนชนิดอื่นที่มีความสามารถในการจับกับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ จะมีการเติมหมู่น้ำตาลกลูโคสบนโมเลกุลโปรตีนอัลบูมินเกิดเป็น ไกลเคทเตดอัลบูมิน (Glycated Albumin) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาวะต่างๆในผู้ป่วยเบาหวาน โดยสามารถบ่งชี้ภาวะโรคแทรกซ้อนหลายชนิด เนื่องจากระดับไกลเคทเตดอัลบูมินมีความเกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และระดับ HbA1c ด้วย จึงสามารถใช้เป็นตัวคัดกรอง ติดตาม และประเมินความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ดีกว่าระดับ HbA1c เนื่องจากสามารถตอบสนองต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้เร็วกว่า และโปรตีนอัลบูมินมีวงจรชีวิตประมาณ 2-4 สัปดาห์ ทำให้สามารถติดตามระดับน้ำตาลในเลือดได้ในช่วงเวลาที่สั้นกว่า ทั้งยังไม่มีข้อจำกัดในการใช้งานกับผู้ป่วยที่มีภาวะของเลือดที่ผิดปกติอีกด้วย
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
SugarAl GO-sensor เป็นการตรวจวัดปริมาณไกลเคทเตดอัลบูมินโดยการใช้สารละลายกราฟีนร่วมกับแอปตาเมอร์
สามารถนำไปวิเคราะห์โปรตีนไกลเคทเตดอัลบูมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถติดตามระดับน้ำตาลในเลือดได้ในช่วงเวลาที่สั้นกว่าการตรวจวัด HbA1C ทั้งยังไม่มีข้อจำกัดในการใช้งานกับผู้ป่วยที่มีภาวะของเลือดที่ผิดปกติอีกด้วย โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่วัดได้อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งมีความไวกว่าชุดตรวจที่ใช้หลักการจับกันของแอนติบอดีกับโปรตีนถึง 2 เท่า ขั้นตอน และวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก สามารถอ่านผลได้ภายใน 30 นาที
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ได้ต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
ตัวแทนอนุญาตใช้สิทธิ สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) สวทช.
โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 161ุ6
Email ipbiz@nstda.or.th
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช.

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "ชุดตรวจวัดปริมาณโปรตีนไกลเคทเตดอัลบูมินเพื่อติดตามเบาหวาน SugarAL GO-Sensor"