ปุ๋ยเจลบีดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร (Gel Beads Control Release Fertilizer)
นักวิจัย  
ผศ.ดร.ณัฐบดี วิริยาวัฒน์
ผศ.ดร.สุรชาติ สินวรณ์
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
 
สถานภาพสิทธิบัตร
อยู่ระหว่างยื่นคำขอ
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
ปุ๋ยนับว่ามีความจำเป็นต่อการเติบโตของมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปุ๋ยเคมี ซึ่งให้ธาตุอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของมันสำปะหลัง เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพในอัตราที่เหมาะสม สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับมันสำปะหลังได้ แต่ปัญหาสำคัญของการใส่ปุ๋ยเคมีคือ การสูญเสียธาตุอาหารหลักในปุ๋ยเมื่อใส่ลงในดิน เนื่องจากปุ๋ยเคมีละลายเร็ว สำหรับธาตุไนโตรเจน (N) นั้น ละลายน้ำได้ง่าย เมื่อใส่ลงในดินจะเคลื่อนที่ได้เร็วมาก ดังนั้นถ้ารากพืชดูดไม่ทัน จะถูกน้ำพัดพาไปจากชั้นดินอย่างรวดเร็ว ส่วนธาตุฟอสฟอรัส (P) สามารถทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก และธาตุโพแทสเซียม (K) แม้จะละลายน้ำได้ง่าย แต่เนื่องจากมีประจุบวกจึงถูกยึดอยู่ที่ผิวอนุภาคดินเหนียว ทำให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ยาก ซึ่งปัญหานี้ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เกษตรกรจึงต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม ส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพจากการใช้ปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น และทำให้ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศสูง ต้นทุนค่าใช้จ่ายของเกษตรกรจึงสูงขึ้น ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดใช้ปุ๋ยของมันสำปะหลัง โดยใช้ปุ๋ยเจลบีดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารจึงมีความเหมาะสม เนื่องจากจะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาอย่างช้า ๆ ช่วยให้มันสำปะหลังได้รับธาตุอาหาร N P K อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการปลูก ลดการสูญเสียธาตุอาหารที่ถูกชะล้างจากน้ำฝน น้ำผิวดิน ใต้ดิน และน้ำจากการให้ของเกษตรกรที่มากเกินไป ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยในแปลงปลูก ลดการใช้แรงงานจำนวนมากในการใส่ปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ปุ๋ยเจลบีดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร N P K เป็นปุ๋ยที่เคลือบด้วยพอลิแซคคาไลด์จากธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติสลายตัวทางชีวภาพ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สามารถปลดปล่อยธาตุอาหาร N P K ออกมาอย่างช้า ๆ ภายใน 45 วัน โดยใช้หลักการแพร่ (Diffusion control release) ทำให้มันสำปะหลังได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในเชิงคุณภาพ ได้แก่ ร้อยละเปอร์เซ็นต์แป้งต่อหัว คุณภาพของท่อนพันธุ์ และเชิงปริมาณได้แก่ น้ำหนักหัวสด ลดปัญหาการใช้ปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โทรศัพท์ 0 2244 5280-2
โทรศัพท์มือถือ 0 8130 02594
Email jirajitsupa@gmail.com
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "ปุ๋ยเจลบีดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร (Gel Beads Control Release Fertilizer)"