การพัฒนาตังถั่งเช่าจากหนอนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์
นักวิจัย  
อาจารย์ ดร. บราลี ปัญญาวุธโธ และคณะวิจัย
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
สถานภาพสิทธิบัตร
สิทธิบัตร เลขที่ 137390 เรื่อง คอร์ไดเซปิน และกรรมวิธีการผลิตคอร์ไดเซปิน
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
ตังถั่งเช่าเป็นเชื้อราที่เจริญเติบโตอยู่บนตัวแมลง ในปัจจุบันตังถั่งเช่าเป็นที่นิยมนำมาบริโภคเนื่องจากมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันและมีรายงานที่แสดงให้เห็นว่าตังถั่งเช่าสามารถป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหลายชนิดได้ อย่างไรก็ตาม ตังถั่งเช่าที่เจริญเติบโตในธรรมชาติมีราคาสูงมาก ผู้วิจัยจึงได้นำหนอนไหมที่ตายแล้วซึ่งจัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งมาพัฒนาเป็นอาหารหลักสำหรับเชื้อราชนิดนี้แทน ซึ่งหนอนไหมที่ตายแล้วจัดเป็นผลผลิตเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ได้จากกระบวนการสาวไหม จากการทดสอบปริมาณสารอาหารในหนอนไหมแต่ละระยะพบว่า ดักแด้มีปริมาณไขมันเป็นองค์ประกอบอยู่สูง แต่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและความชื้นต่ำเมื่อเทียบกับหนอนวัย 3 และ 5 อย่างไรก็ตามปริมาณโปรตีนและเส้นใย (crude fiber) ในดักแด้และหนอนวัย 3 และ 5 ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยหนอนวัย 3 และ 5 ยังให้พลังงานน้อยกว่าดักแด้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าหนอนไหมจากสายพันธุ์ที่ต่างกันไม่มีผลต่อสารอาหารและสามารถนำหนอนสายพันธุ์ต่างกันมาใช้ในการผลิตตังถั่งเช่าได้ โดยหนอนไหมวัย 5 มีสารอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราตังถั่งเช่ามากที่สุด อย่างไรก็ตามสามารถใช้หนอนวัย 3 และ 5 ทดแทนกันได้
จากการใช้เชื้อรา 3 ชนิดได้แก่ Cordyceps militaris, Isaria tenuipes และ Isaria farinosa มาเพาะเลี้ยงลงบนหนอนไหมพบว่า ตังถั่งเช่าที่ได้จากการเลี้ยง C. military บนสารอาหารที่มีหนอนไหมเป็นองค์ประกอบสามารถตรวจพบสารสำคัญคือคอร์ไดเซปินได้ในปริมาณที่สูงกว่าตังถั่งเช่าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการเลี้ยงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อีกทั้งหนอนไหมที่ตายแล้วสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเลี้ยงเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้กระบวนการสกัดด้วยน้ำบริสุทธิ์ที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียสมีประสิทธิภาพสูงกว่ากระบวนการสกัดด้วยน้ำบริสุทธิ์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสแต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับกระบวนการสกัดด้วยเอธิลแอลกอฮอล์ร้อยละ 70 เมื่อนำตังถั่งเช่าที่ผลิตได้มาทดสอบคุณสมบัติทางชีวภาพพบว่ามีคุณสมบัติทางชีวภาพที่ดี เทียบเท่ากับตังถั่งเช่าที่ได้จากธรรมชาติ นอกจากนี้สารคอร์ไดเซปินที่สกัดได้เมื่อนำมาเลี้ยงเซลล์ปอด พบว่าไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ปอดปกติแต่จะแสดงความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอดโดยไปทำลายผนังเซลล์ทำให้เกิดการแตกตายของเซลล์ในที่สุด อีกทั้งยังพบว่าสารคอร์ไดเซปินที่ผลิตขึ้นยังมีผลยับยั้งการเคลื่อนย้าย (migration) ของเซลล์มะเร็ง โดยสารคอร์ไดเซปินที่ความเข้มข้นสูงสามารถยับยั้งการเคลื่อนย้ายของเซลล์ได้มากกว่าสารคอร์ไดเซปินที่มีความเข้มข้นต่ำ
เมื่อนำตังถั่งเช่าที่ผลิตขึ้นมาทดสอบด้านความปลอดภัยพบว่า ตังถั่งเช่าที่ผลิตขึ้นไม่แสดงความเป็นพิษทั้งในด้านการก่อกลายพันธุ์ รวมถึงไม่แสดงความเป็นพิษในเซลล์เพาะเลี้ยงและจากการป้อนสารดังกล่าวให้หนูรับประทาน(ในขนาด 0.25 และ 1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ติดต่อกันนาน 3 เดือนพบว่า ตังถั่งเช่าที่ผลิตขึ้นไม่แสดงความเป็นพิษแต่อย่างใด โดยการทำงานของตับและไตหนูปกติ อีกทั้งหนูยังรับประทานอาหารได้ตามปกติ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับอาหารทั่วไป และจากผลการทดสอบในเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าคอร์ไดเซปในขนาดดังกล่าวสามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ ด้วยเหตุนี้ขนาดดังกล่าว (1.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) จึงเป็นขนาดที่จะนำมาใช้ในการเตรียมเป็นสูตรตำรับในขนาด 70 มิลลิกรัม/เม็ดและได้จัดเตรียมเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตามข้อกำหนดแล้ว
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
เป็นกระบวนการผลิตตังถั่งเช่าโดยใช้หนอนไหมที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ ผ่านการนำเชื้อราตังถั่งเช่ามาเลี้ยงบนหนอนไหมที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1.5-2 เดือน หลังจากนั้นทำการสกัดโดยใช้น้ำร้อนเพื่อนำสารสำคัญออกมา แล้วนำไปทำแห้งด้วยกระบวนการ freeze drying หรือ spray drying
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับ pilot scale ได้ถูกทดสอบในสภาวะทำงานจริง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
นางสาว ภาวดี ใจเอื้อ
โทรศัพท์ 02-579-74735 ต่อ 3306
โทรศัพท์มือถือ 089-120-4042
Email phawadee@arda.or.th
สำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "การพัฒนาตังถั่งเช่าจากหนอนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์"