ขดลวดค้ำยันชนิดลากลิ่มเลือดจากโลหะผสมจำรูปสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลัน
นักวิจัย  
ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1701003152 เรื่อง ขดลวดค้ำยันชนิดลากลิ่มเลือดจากโลหะผสมจำรูปสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตันแบบเฉียบพลัน และกรรมวิธีการผลิต ยื่นคำขอวันที่ 7 มิถุนายน 2560
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Disease, Stroke) เป็นโรคทางระบบประสาท หรือเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์อัมพาต และเป็นหนึ่งในสามสาเหตุในการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก โดยองค์กรอัมพาตโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้รายงานสาเหตุการเสียชีวิตของโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 2 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในปี พ.ศ. 2552 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 13,326 คน หรือคิดเป็น 3 คน ทุก 2 ชั่วโมง และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 20,373 คน ในปี พ.ศ. 2555 หรือคิดเป็น 7 คน ทุก 3 ชั่วโมง มีอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคโดยเฉลี่ย 270 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ไปจนถึง 170,000 คนต่อปี (จากการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองระหว่างปี พ.ศ.2535 และ 2563) จากข้อมูลอัตราการตาย อัตราการเกิดของโรค ที่มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นแสดงให้เห็นถึงความอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองและความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเพื่อรองรับต่ออัตราการตาย อัตราการเกิดโรคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสามารถจำแนกออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 80% เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง (Ischemic Stroke) และ 20% เกิดจากเลือดออกในสมองเนื่องจากหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองควรรักษาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากหากสมองขาดเลือดเป็นระยะเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของระบบประสาทซึ่งส่งผลให้มีโอกาสเกิดความพิการและเสียชีวิตมากขึ้น โดยแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้นสามารถรักษาได้โดยใช้ยาตระกูลสลายเกล็ดเลือด เช่น rt-PA หรือ t-PA เป็นต้น ข้อจำกัดของการใช้ยานั้นองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration) จำกัดช่วงเวลาในการรักษาภายใน 3 - 4.5 ชั่วโมง พบว่ามีเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่สามารถรับการรักษาด้วยการใช้ยาสลายลิ่มเลือดได้ ดังนั้นการใช้อุปกรณ์เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดจึงเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยองค์การอาหารและยาได้กำหนดช่วงเวลาในการรักษาโดยการใช้อุปกรณ์เปิดหลอดเลือดที่ตีบตันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีภายใน 8 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาไม่ทันในช่วงเวลา 3 – 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ ได้มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยอุปกรณ์ในการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือดที่ตีบตันได้มีการพัฒนาตั้งแต่การลากลิ่มเลือดที่อุดตันโดยใช้ขดลวดที่ผลิตจากโลหะผสมจำรูป (Shape Memory Alloys) ที่มีลักษณะเป็นเกลียว ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นการใช้สายดูดลิ่มเลือด ซึ่งให้อัตราการเปิดหลอดเลือดที่ตีบตันสูงขึ้น แต่ผลการรักษาที่ดีขึ้นในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นอาการของผู้ป่วยกลับแย่ลงเนื่องจากเกิดอาการอุดตันซ้ำ จากนั้นมีการพัฒนาและประยุกต์ใช้ขดลวดค้ำยัน (Stent) สำหรับรักษาการตีบของหลอดเลือดในสมองมาใช้ในการเปิดหลอดเลือดที่ตีบตันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตันในระยะเฉียบพลันซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น แต่การใช้ขดลวดค้ำยันเข้าไปเปิดหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตันจากการอุดตันของลิ่มเลือดนี้ไม่ได้นำขดลวดออกจากร่างกายทำให้เกิดโอกาสการตีบซ้ำในภายหลังได้ จึงมีการออกแบบเป็นขดลวดขนาดเล็กที่ผลิตจากโลหะผสมจำรูปที่มีลักษณะเป็นแบบขดลวดค้ำยันที่สามารถดึงกลับออกได้สอดไปตามเส้นเลือดแล้วลากลิ่มเลือดออกมาพร้อมกับขดลวดดังกล่าวที่สอดเข้าไป ซึ่งแก้ปัญหาการตีบตันซ้ำจากการใส่ขดลวดค้ำยันที่ดึงกลับไม่ได้ และให้ผลการรักษาที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ขดลวดชนิดเกลียวในการลากลิ่มเลือด
จากการศึกษาข้อมูลดังกล่าวพบว่าการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตันระยะเฉียบพลันโดยการใช้ขดลวดที่มีลักษณะเป็นแบบขดลวดค้ำยันที่ดึงกลับได้เป็นการรักษาที่ให้ผลการรักษาที่ดี และเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมต่อการให้ยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรือเข้ารับการรักษาไม่ทันในช่วงเวลา 3 – 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ ได้มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้ในการออกแบบและสร้างขดลวดค้ำยันดึงกลับได้ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตันระยะเฉียบพลันโรงพยาบาลที่มีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองจึงต้องนำเข้าขดลวดดังกล่าวจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ขดลวดค้ำยันชนิดลากลิ่มเลือดนั้นนำลวดโลหะผสมนิกเกิล-ไทเทเนียม โดยใช้เทคโนโลยีการสานในการผลิต
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้ร่วมวิจัยพัฒนา
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
ดร.อมรรัตน์ วัฒนล้ำเลิศ, ศศิธร บูรณตรีเวทย์
โทรศัพท์ 0-2470-9626
Email amornrat.wat@kmutt.ac.th
หน่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "ขดลวดค้ำยันชนิดลากลิ่มเลือดจากโลหะผสมจำรูปสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลัน"