วิธีการผลิตอุปกรณ์อุดผนังหัวใจห้องบนที่สร้างจากลวดโลหะผสมจำรูป
นักวิจัย  
ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1701000917 เรื่อง วิธีการผลิตอุปกรณ์อุดผนังหัวใจห้องบนที่สร้างจากลวดโลหะผสมจำรูป ยื่นคำขอวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
การรักษาโรคผนังหัวใจรั่วมีการรักษาอยู่ 2 วิธีคือ การผ่าตัด และการใส่อุปกรณ์ปิดรูรั่วทางสายสวน ในการผ่าตัดหัวใจถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากผู้ป่วยจะต้องถูกเปิดหน้าอกและเลื่อยกระดูกซี่โครงบริเวณหน้าอก เพื่อความสะดวกในการผ่าตัด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีแผลหลังการผ่าตัดตรงกลางหน้าอก ตั้งแต่คอหอยถึงลิ้นปี่มีขนาดยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะเจ็บมากและต้องใช้ระยะเวลาการพักฟื้นตัวหลังการผ่าตัดนานถึง 2 เดือน เพื่อให้กระดูกหน้าอกติดกันสนิท ต่อมาได้มีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่สามารถปิดรูรั่วหัวใจได้โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยที่อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจจะใช้อุปกรณ์พิเศษ “ASD Occluder” หรือเรียกว่าอุปกรณ์อุดผนังหัวใจห้องบน ทำจากโลหะผสมนิกเกิล-ไทเทเนียม ที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถจดจำรูปร่างและคืนรูปได้ โดยพิเศษทำหน้าที่คล้ายกับเป็นร่ม 2 ชั้น (double umbrella) ประกบกันสำหรับปิดรูรั่วสอดใส่เข้าไปทางบริเวณขาหนีบซึ่งจะมีแผลบริเวณขาหนีบเพียงเล็กน้อยหลังทำการรักษาปิดรูรั่ว ถือได้ว่าเป็นการรักษาที่มาตรฐาน ปลอดภัย และมีความสำเร็จสูง และเป็นหนึ่งในวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลงและพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-2 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้
แต่ทั้งนี้การรักษาโดยวิธีการใส่อุปกรณ์ปิดรูรั่วทางสายสวนหัวใจมีค่าอุปกรณ์อุดผนังหัวใจมีราคาที่สูงมากถึง 80,000 บาทต่อตัว และต้องนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศ ซึ่งในการสร้างอุปกรณ์อุดผนังหัวใจในประเทศไทยจะช่วยลดราคาของค่าอุปกรณ์ได้สูงสุดถึง 3 เท่า อีกทั้งยังสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในประเทศไทย หรือสามารถปรับแต่งตามความต้องการของแพทย์ได้
วิธีในการรักษาเพื่อปิดรูรั่วหัวใจห้องบนโดยใช้อุปกรณ์อุดผนังหัวใจห้องบน (ASD Occluder) ในการปิดรูรั่ว จะมีลักษณะเป็นลวดตาข่ายสานคล้ายกับร่ม 2 ชั้น (double umbrella) ทำจากโลหะผสมนิกเกิล-ไททาเนียม หรือไนเทนอล จากนั้นอุปกรณ์จะถูกยืดออกเพื่อเข้าไปติดตั้งในหลอดสายสวนหัวใจสอดเข้าทางหลอดเลือดบริเวณโคนขาหนีบ (catheter entry point) เมื่ออุปกรณ์ถึงตำแหน่งที่ต้องการก็จะสามารถกางขยายขนาดขนาดเพื่อกลับคืนรูปร่างเดิมได้ ซึ่งในการที่วัสดุจะกลับคืนรูปเดิมได้นั้นวัสดุจะต้องมีสมบัติยืดหยุ่นยิ่งยวด (Superelasticity) เป็นคุณสมบัติเหมือนยางคือเมื่อให้แรงหรือเปลี่ยนรูปวัสดุไปแล้ววัสดุจะคืนรูปกลับเหมือนเดิมเพียงแค่ปล่อยแรงออกภายใต้เงื่อนไขบางประการ
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
อุปกรณ์อุดผนังหัวใจห้องบนที่สร้างจากลวดโลหะผสมจำรูปของโลหะผสมนิกเกิลไทเทเนียม ที่ผ่านกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้อุปกรณ์อุดผนังหัวใจมีสมบัติทางกลที่ดีที่ที่สุดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่มีใช้ในเชิงพาณิชย์
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้ร่วมวิจัยพัฒนา
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
ดร.อมรรัตน์ วัฒนล้ำเลิศ, ศศิธร บูรณตรีเวทย์
โทรศัพท์ 0-2470-9626
Email amornrat.wat@kmutt.ac.th
หน่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "วิธีการผลิตอุปกรณ์อุดผนังหัวใจห้องบนที่สร้างจากลวดโลหะผสมจำรูป"