ไบโอแคลเซียมจากกระดูกปลา
นักวิจัย  
ศาสตราจารย์ สุทธวัฒน์ เบญจกุล
คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ.
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1601007332 เรื่อง ไบโอแคลเซียมจากกระดูกปลา ยื่นคำขอวันที่ 2 ธันวาคม 2559
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
แคลเซียมเป็นหนึ่งในธาตุที่สำคัญและพบมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของกระดูกและฟัน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย (physiological activities) เช่น กระบวนการยืดหดของกล้ามเนื้อ (modulating muscle function) การไหลของเลือด (blood flow of capillary) การแข็งตัวของเลือด (blood coagulation) การส่งสัญญาณประสาท (nerve impulse transfer) รวมทั้งการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ฯลฯ ปัจจุบันทั่วโลกมีรายงานภาวะพร่องแคลเซียมและโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณแคลเซียมที่ได้รับไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องการ ในหลายประเทศได้กำหนดมาตรฐานปริมาณแคลเซียมต่ำสุดที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน สำหรับประเทศไทยปริมาณแคลเซียมต่ำสุดที่ร่างกายควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 600 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับวัยเด็ก และ 1,000-1,500 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับวัยรุ่น ส่วนวัยผู้ใหญ่ต้องการแคลเซียม 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน (Center of Calcium and Bone Research, 2010)

ไบโอแคลเซียมคือแคลเซียมที่ประกอบไปด้วยเปปไทด์ที่มีชีวปริมาณออกฤทธิ์ (bioavailability) ได้สูงกว่าแคลเซียมบริสุทธิ์ โดยเปปไทด์ดังกล่าวสามารถจับกับแคลเซียม (calcium chelating) และป้องกันการตกตะกอนของแคลเซียมในรูปเกลือแคลเซียมฟอสเฟต (Jung et al., 2006)

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทูน่าบรรจุกระป๋องเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งในระหว่างกระบวนการแปรรูปเป็นปลาทูน่าบรรจุกระป๋องนั้น ก่อให้เกิดวัสดุเศษเหลือหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกปลาที่ผ่านการนึ่งสุก (pre-cooking) ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 30-35% ของวัสดุเศษเหลือทั้งหมด กระดูกปลาจัดเป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจเนื่องจากในกระดูกปลามีปริมาณแคลเซียมสูงถึง 34-36% ซึ่งสูงกว่าอาหารชนิดอื่นๆ (Hamada et al., 1995) และยังอุดมไปด้วยคอลลาเจนและคอนดรอยติน ซึ่งในปัจจุบันได้นำกระดูกปลามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลิตภัณฑ์ไบโอแคลเซียม แต่อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ไบโอแคลเซียมที่ผลิตจากกระดูกปลานั้นยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการนำไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องกลิ่นคาว (fishy odor) ของผลิตภัณฑ์ซึ่งมีสาเหตุหลักจากเลือดที่ตกค้างในกระดูกและปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดกลิ่นหืนที่ไม่พึงประสงค์ในผลิตภัณฑ์ (off-odor rancidity) ส่งผลให้อายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์สั้นลง นอกจากนี้ปัญหาด้านสีก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดของการนำไบโอแคลเซียมไปใช้งานโดยสาเหตุหลักของการเกิดสีในผลิตภัณฑ์ไบโอแคลเซียมเกิดจากเลือดตกค้างอยู่ในกระดูกและเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นทำให้ไบโอแคลเซียมที่ได้เกิดสีที่ไม่ต้องการเกิดขึ้น จากปัญหาด้านกลิ่นคาวและสีที่ไม่พึงประสงค์จึงเป็นอุปสรรค์ที่สำคัญในการนำกระดูกไปใช้เพื่อผลิตเป็นไบโอแคลเซียม ดังนั้นผู้ประดิษฐ์จึงคิดค้นกรรมวิธีการผลิตไบโอแคลเซียมจากกระดูกปลาขึ้น ซึ่งกรรมวิธีนี้จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ไบโอแคลเซียมที่ได้ปราศจากกลิ่นคาวและมีสีขาวขึ้นโดยสามารถลดข้อจำกัดในการนำไปประยุกต์ใช้งาน เช่น การใช้เสริมในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆหรือใช้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพโดยตรง
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ไบโอแคลเซียมจากกระดูกปลา ตามการประดิษฐ์นี้ ประกอบด้วยขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบคือกระดูกปลาที่ผ่านการให้ความร้อน ขั้นตอนการการกำจัดโปรตีนส่วนที่ไม่ใช่คอลลาเจน ขั้นตอนการลดขนาดกระดูก ขั้นตอนการกำจัดไขมัน ขั้นตอนการฟอกจางสี ตลอดจนขั้นตอนการบดกระดูกให้เป็นผงจนได้ผลิตภัณฑ์ผงไบโอแคลเซียมที่เป็นผงละเอียดสีขาวครีมและไม่มีกลิ่นคาว
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
นายสิทานนท์ อมตเวทย์
โทรศัพท์ 074289321
Email sitanon.a@psu.ac.th
ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา ม.อ.

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "ไบโอแคลเซียมจากกระดูกปลา"