ชุดทดสอบการปนเปื้อนสุกร
นักวิจัย  
นางพจนาถ พัทบุรี

ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ม.อ.
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1703000431 เรื่อง ชุดทดสอบการปนเปื้อนสุกร ยื่นคำขอวันที่ 22 ตุลาคม 2559
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพประเทศหนึ่งในด้านอาหารสามารถที่จะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจอาหารฮาลาล เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นที่ยอมรับพร้อมที่จะผลักดันด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าอาหารฮาลาล แต่พบว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคการขยายตลาดฮาลาล คือ

1. ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีศักยภาพด้านการส่งออกอาหารสูงแต่มีส่วนร่วมในตลาดอาหารฮาลาลต่ำหากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ชัดเจนธุรกิจอาหารฮาลาลของไทยมีโอกาสสูงในการค้าโลก
2. หากประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการค้าอาหารฮาลาล (Halal Hub) จะต้องเน้นคุณภาพของผลิตภัณฑ์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศและควรมองตลาดใหม่ๆ เช่น สหรัฐ อเมริกา และ EU ซึ่งเป็นตลาดฮาลาลขนาดใหญ่และมีอำนาจการซื้อสูง
3. ปัญหาที่พบในธุรกิจสินค้าฮาลาลได้แก่ มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองฮาลาลแต่ละประเทศแตกต่างกัน ขาดการประชาสัมพันธ์และขาดหน่วยงานกลางในการเข้าไปประสานหน่ายงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงนักธุรกิจยังขาดทักษะและความเข้าใจธุรกิจฮาลาล

โดยปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือวิธีการที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือในการตรวจสอบการปนเปื้อนของกลุ่มอาหารฮารอมในการผลิตอาหารฮาลาล ซึ่งผิดต่อหลักศาสนาอิสลาม ได้แก่ เนื้อสุกร ไขมันสุกร หนังสุกร และองค์ประกอบอื่น ๆ ของสุกรงานวิจัยที่ผ่านมา Saiki และคณะ (1988) ได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของดีเอ็นเอ สุกรและสุนัขซึ่งเป็นสัตว์ต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม โดยใช้หลักการเพิ่มปริมาณ ดีเอ็นเอ ของสุกรที่ปนเปื้อนในอาหารเพียงเล็กน้อยด้วยเทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction) ซึ่งใช้เวลาน้อยและมีความแม่นยำในการตรวจสอบ โดยสามารถตรวจสอบได้ครั้งละประมาณ 90 ตัวอย่าง ในเวลา 1 วัน ในการวิจัยที่ผ่านมาสามารถยืนยันได้ว่า วิธี PCR เป็นวิธีที่มีความจำเพาะและไวต่อปฏิกิริยาสูง งานวิจัยของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการไปแล้วได้ศึกษาหา primer ที่เหมาะสมต่อการตรวจสอบการปนเปื้อนของ ดีเอ็นเอ สุกรในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต โดยเปรียบเทียบความไวของปฏิกิริยาของ primer ในส่วน repetitive element และ mitochondrial จากการศึกษาพบว่า primer ในส่วน repetitive element มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบได้ดีกว่าเนื่องจากสามารถตรวจสอบ ดีเอ็นเอสุกรที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่ยากต่อการตรวจสอบในตัวอย่างเจลาติน และซุปก้อนปรุงรส ในขณะที่ primer ในส่วน mitochondrial ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งในปัจจุบันศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ได้มีการนำวิธีการตรวจสอบดังกล่าวมาใช้ในการบริการลูกค้าที่สนใจตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล แม้ว่าจะมีความไวและจำเพาะมากแต่ต้องอาศัยเครื่องมือที่ราคาแพงและเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้งานรวมทั้งต้องทำในห้องปฏิบัติการโดยต้องเก็บตัวอย่างที่ต้องการตรวจสอบมายังห้องปฏิบัติการ
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ชุดสำเร็จรูปตรวจสอบการปนเปื้อนของสุกรในอาหารและกรรมวิธีการผลิตชุดสำเร็จรูปดังกล่าวใช้เทคนิคลาเทอรัลโฟล เป็นการนำเอา อิมมูโนโกลบูลินชนิดจี (G) ของสุกรมาต่อเชื่อมกับอนุภาคทองมีขนาดประมาณ 40 นาโนเมตรแล้วนำมาพ่นบนวัสดุใยแก้ว นำมาประกอบไว้ในรูปชุดตรวจสอบ เพื่อจับอนุภาคโปรตีนจากสุกรในตัวอย่างที่ตรวจสอบ แล้วอนุภาคเคลื่อนที่ไปจับกับ อิมมูโนโกลบูลินชนิดจี (G) ของสุกรที่ถูกพ่นไว้เป็นเส้นตรงที่ตำแหน่ง เส้นทดสอบ (T) ทำให้เกิดปฏิกิริยาของแถบสีแดงเข้ม ทำให้ทราบปฏิกิริยาให้ผลบวกซึ่งหมายความว่ามีการปนเปื้อนของสุกร
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับ pilot scale ได้ถูกทดสอบในสภาวะทำงานจริง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
นายสิทานนท์ อมตเวทย์
โทรศัพท์ 074289321
Email sitanon.a@psu.ac.th
ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา ม.อ.

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "ชุดทดสอบการปนเปื้อนสุกร"