เครื่องมือวัดปริมาณไขมันแทรกในเนื้อสัตว์
นักวิจัย  
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ  
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 0901005076 เรื่อง วิธีการคำนวณปริมาณไขมันแทรกในเนื้อสัตว์ เพื่อการวัดคุณภาพของเนื้อสัตว์ ด้วยเทคนิคการประมวลผลภาพแบบสุ่มภาพย่อย ยื่นคำขอวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
การกำหนดคุณภาพของเนื้อโคในปัจจุบันตามประกาศของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพิจารณาสีเนื้อ สีไขมัน อายุสัตว์ และระดับไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ ในประเทศไทยแบ่งระดับไขมันแทรกในกล้ามเนื้อเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ไม่มีเลย น้อยมาก น้อย ปานกลาง และมาก โดยการพิจารณาด้วยสายตาของผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ยังได้ออกประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายรับรอง Q และ Q Premium กับสินค้าเกษตรและอาหาร พ.ศ. 2548” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงเพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อโคนั้นมีเกณฑ์กำหนดว่าต้องเป็นเนื้อที่มีคุณภาพในชั้นดีเลิศ (Prime) หรือชั้นดีมาก (Choice) จากโคขุนอายุไม่เกิน 36 เดือน และมีคะแนนระดับไขมันแทรก (marbling score) อยู่ระหว่าง 3.5 ถึง 5 อย่างไรก็ดี ในประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดการให้คะแนนระดับไขมันแทรก มีเพียงรูปชิ้นเนื้อที่มีคะแนนระดับไขมันแทรกแต่ละระดับสำหรับใช้เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบเท่านั้น การให้คะแนนระดับไขมันแทรกในปัจจุบันอาศัยการประเมินด้วยสายตาของผู้เชี่ยวชาญ จึงมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดและผลการให้คะแนนของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนมีความแตกต่าง ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงได้มีการพัฒนาเทคนิคการประมวลผลภาพ (image processing) เพื่อนำมาใช้ในการหาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเนื้อสัตว์ การถ่ายภาพชื้นเนื้อและวิเคราะห์หาปริมาณไขมันจากรูปถ่ายจะทำให้ทราบว่าชิ้นเนื้อนั้นๆมีปริมาณไขมันแทรกมากน้อยเพียงใด คิดเป็นร้อยละเท่าใด เมื่อเทียบกับส่วนที่เป็นเนื้อแดง
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ผลิตภัณฑ์นี้สามารถประเมินคุณภาพเนื้อโค ได้จากการถ่ายรูปชิ้นเนื้อ แล้วนำภาพที่ได้ไปผ่านกระบวนการประเมินระดับไขมันแทรก (marbling score) ด้วยซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ และคำนวณผลที่ได้เป็นเกรดคุณภาพเนื้อโคที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ เหมาะสำหรับใช้ทดแทนการประเมินเกรดคุณภาพเนื้อโคด้วยวิธีการดั้งเดิมคือ การประเมินจากสายตาของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนสูง และไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ได้ต้นแบบระดับ pilot scale
เงื่อนไข
เทคโนโลยีราคาเดียว
สนใจสอบถามข้อมูล
คุณสโรชา เพ็งศรี
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1311
Email sarocha.phengsri@tmc.nstda.or.th
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) สวทช.

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "เครื่องมือวัดปริมาณไขมันแทรกในเนื้อสัตว์"