สูตรตำรับยาสมุนไพรสำหรับแก้ไอ
นักวิจัย  
นายธีรวัฒน์ สุดขาว
คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1503000578 เรื่อง สูตรตำรับยาสมุนไพรสำหรับแก้ไอ ยื่นคำขอวันที่ 10 เมษายน 2558
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
อาการไอที่เกิดจากจากการอักเสบของลำคอ เป็นอาการที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ยาแก้ไอ จึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคนึกถึงเมื่อมีอาการ ซึ่งพบว่ายาแก้ไอที่ทำมาจากสมุนไพรได้รับความนิยมสูง โดยทางการแพทย์แผนไทยมีสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการไอ และเจ็บคอหลายชนิด เช่น ขิง เสนียด ฟ้าทะลายโจร มะแว้งเครือ มะขามป้อม เป็นต้น ทั้งรูปแบบที่เป็นน้ำ และบดผงละลายน้ำจิบแก้เจ็บคอ และปัจจุบันก็มีการนำสารสกัดจากสมุนไพรมาผลิตเป็นยาสมุนไพรแก้ไอจำหน่าย ส่วนใหญ่มักมีการระบุส่วนประกอบ เช่น สารสกัดมะขามป้อม สารสกัดมะแว้ง สารสกัดชะเอมเทศ หรือสารสกัดเสนียด เป็นต้นอีกทั้งยาแก้ไอสมุนไพรที่มีการจดสิทธิบัตรแล้วนั้น พบว่ามีการมีการใช้สารสกัดมะขามป้อมเป็นตัวยาหลักเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีตำรับยาสมุนไพรบรรเทาอาการไอที่มีระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติหลายตำรับประกอบด้วยสมุนไพร เช่น รากชะเอมเทศ บ๊วย มะนาวดองแห้ง เหง้าว่านน้ำ ผลมะแว้งเครือ ดอกกานพลู เนื้อลูกสมอพิเภก เปลือกอบเชย เนื้อลูกมะขามป้อม ดอกเก๊กฮวย หล่อฮั่งก๊วย ผิวส้มจีน เนื้อลูกสมอ รากชะเอมไทย ดอกกานพลู ใบสวาด ใบตานหม่อน ใบกะเพรา ฯลฯ แต่ไม่มีการใช้สมุนไพรชื่อ “โทงเทง” เป็นส่วนประกอบร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ มาก่อน โทงเทงเป็นสมุนไพรที่มีรสขม สรรพคุณช่วยรักษาทอนซิลอักเสบ หอบหืด แก้เจ็บคอ และรักษาอาการไอเรื้อรัง ดั้งเดิมมีการใช้โทงเทงตำละลายสุรา หรือน้ำส้มสายชูชุบสำลีอมกลืนน้ำ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ฝีในคอได้ดีมากหรือต้มใส่น้ำตาลทรายแดงและเกลือเล็กน้อยอมแก้เจ็บคอยังไม่พบการใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาบรรเทาอาการไอร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ มาก่อนซึ่งตามหลักการแพทย์แผนไทยแล้วการผสมโทงเทงซึ่งมีรสขม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาของยาแก้ไอได้ดี ทางผู้ประดิษฐ์จึงคิดค้นสูตรยาสมุนไพรแก้ไอขึ้นมาใหม่ โดยใช้สมุนไพรบางชนิดจากยาบรรเทาอาการไอตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำการคัดเลือกตามหลักการแพทย์แผนไทย โดยให้ได้รส กลิ่น และสรรพคุณที่ดี ได้แก่ มะขามป้อม ชะเอมเทศ มะแว้งเครือ เสนียด น้ำตาลกรวด น้ำมะนาว น้ำขิง เกลือ และเมนทอล โดยเพิ่มสมุนไพรที่ไม่เคยมีการใช้ผสมเป็นตำรับยาแก้ไอมาก่อน คือโทงเทง
อีกทั้งผู้ประดิษฐ์มีการใส่น้ำมะนาวสดในตำรับยา แทนการใช้น้ำมะนาวแทรกเกลือเป็นกระสายร่วมกับผงยา เพื่อเพิ่มสรรพคุณของการขับเสมหะ และง่ายต่อการรับประทาน และใช้น้ำขิงสดผสมช่วยท้ายของการต้ม แทนการใช้ขิงแห้งบดผง เพื่อรสชาติที่กลมกล่อมขึ้นจากการที่แพทย์จ่ายยาสูตรนี้ให้ป่วยในโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่าใช้ได้ผลดี ผู้ป่วยพึงพอใจในผลการใช้ยา
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
การประดิษฐ์นี้เป็นยาน้ำที่ต้มมาจากสมุนไพร ประกอบด้วย โทงเทง มะแว้งเครือ เสนียด มะขามป้อม ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำมะนาว น้ำขิง เกลือ และเมนทอล ที่ผ่านกรรมวิธี ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้ยาน้ำที่ได้จากการต้มสมุนไพร
ความมุ่งหมายของสิ่งประดิษฐ์นี้ คือ เพื่อจัดทำยาแก้ไอที่ผลิตจากสมุนไพรสูตรใหม่ ที่มีประสิทธิภาพบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ รสชาติดี และไม่มีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ได้ต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ
เงื่อนไข
เทคโนโลยีราคาเดียว
สนใจสอบถามข้อมูล
นายสิทานนท์ อมตเวทย์
โทรศัพท์ 074-28-9321, 09-0970-7099
Email sitanon.a@psu.ac.th
ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "สูตรตำรับยาสมุนไพรสำหรับแก้ไอ"