กรรมวิธีการเก็บรักษาน้ำเชื้อของปลาด้วยวิธีการแช่แข็ง
นักวิจัย  
รองศาสตราจารย์ ดร.วีรพงศ์ วุฒิพันธุ์ชัย และรองศาสตราจารย์ ดร.สุบัณฑิต นิ่มรัตน์
คณะวิทยาศาสตร์
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขอสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 0601002634 ยื่นคำขอวันที่ 8 มิถุนายน 2549
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
ในประเทศไทยการศึกษาเกี่ยวกับการเก็บน้ำเชื้อสัตว์น้ำแบบแช่แข็งยังมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับการศึกษาในต่างประเทศ เนื่องจากสัตว์น้ำส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยมักจะมีน้ำเชื้อที่สมบูรณ์ดีตลอดช่วงฤดูผสมพันธุ์วางไข่และหาได้ง่ายจึงทำให้ผู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำไม่นิยมเก็บน้ำเชื้อสัตว์น้ำแช่แข็งเอาไว้ใช้ในอนาคต เพราะเชื่อว่าสามารถหาพ่อพันธุ์ที่มีน้ำเชื้อได้ตลอดเวลา แต่ในความจริงแล้วปัญหาการขาดแคลนน้ำเชื้อของสัตว์น้ำยังคงมักพบอยู่บ่อยครั้งในระหว่างการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำหลายๆ ชนิดโดยเฉพาะการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำต่างชนิดกัน (hybridization) หรือสัตว์น้ำที่มีการกลายเพศ (sex reversal) ซึ่งอาจมีช่วงเวลาที่ไข่และสเปิร์มสมบูรณ์เพศไม่พร้อมกัน เป็นต้น การเก็บรักษาน้ำเชื้อสัตว์น้ำแช่แข็งมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ปลาจะตายในระหว่างการเพาะพันธุ์โดยเฉพาะปลาดุกอุย และปลาดุกเทศ เพราะการเพาะพันธุ์ปลาทั้ง 2 ชนิดนี้เมื่อทำการผสมเทียมนั้นปลาเพศผู้จะตายในระหว่างการเพาะพันธุ์เพราะไม่สามารถรีดน้ำเชื้อสด (fresh milt) ออกมาผสมเทียมกับไข่ได้เหมือนปลาเพศผู้ทั่วไป เนื่องจากปลาดุกเพศผู้ทั้ง 2 ชนิดนี้มีผนังท้องที่หนาและอยู่ลึกใกล้แนวกระดูกสันหลัง ไม่สามารถรีดออกมาได้ ดังนั้นในทางปฏิบัติต้องผ่าท้องปลาดุกทั้ง 2 ชนิดนี้แล้วเอาอัณฑะออกมาขยี้ในผ้าขาวบางเพื่อให้ได้น้ำเชื้อสดไปผสมเทียมกับไข่ต่อไป
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
การเก็บรักษาน้ำเชื้อปลาด้วยวิธีการแช่แข็งทำให้การผสมเทียมมีความสะดวกขึ้น เพราะน้ำเชื้อแช่แข็งสามารถลำเลียงได้สะดวกกว่าการลำเลียงพ่อพันธุ์โดยสามารถขนส่งไปภายในประเทศและระหว่างประเทศได้ง่าย และยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการเก็บรักษาพันธุกรรมของธนาคารยีน (gene bank) หรือเก็บในลักษณะของธนาคารอสุจิ (sperm bank) อีกทั้งการแช่แข็งน้ำเชื้อยังช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ปลาให้โตเร็ว และทนทานโรค เพราะว่าน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่มีลักษณะที่ดีสามารถเก็บเอาไว้ได้เป็นปีซึ่งในประเด็นนี้ถ้าปรับปรุงพันธุ์ปลาดุกอุย หรือดุกเทศด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ (selection) จะไม่สามารถเก็บน้ำเชื้อพ่อพันธุ์รุ่นแรกๆ เอาไว้ได้ เพราะจะตายไปก่อนแล้วจะมีแต่รุ่นลูกๆ ซึ่งถ้าได้มีการเก็บน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ปลาที่ได้คัดเลือกมาอย่างดีแล้วด้วยการแช่แข็งน้ำเชื้อเอาไว้ก็สามารถเอาน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ทุก generation มาผสมกลับ (back cross) เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ได้ต่อไป
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีราคาเดียว
สนใจสอบถามข้อมูล
คุณพัชรวรินทร์ เอี่ยมสอาด
โทรศัพท์ 038-102287
Email tlo.buu.n@gmail.com
ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "กรรมวิธีการเก็บรักษาน้ำเชื้อของปลาด้วยวิธีการแช่แข็ง"